ผู้ติดตาม

วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555


บทเพลงประจำจังหวัดชัยภูมิ


คำขวัญประจำจังหวัด

พระธาตุเด่น พระรอดขลัง ลำไยดัง กระเทียมดี ประเพณีงาม จามเทวี ศรีหริภุญไชย

ประวัติศาสตร์จังหวัดชัยภูมิ

ประวัติศาสตร์จังหวัดชัยภูมิ
• สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา
• ผืนแผ่นดินไทยในอดีตเต็มไปด้วยอารยธรรมอันสูงส่งในนามของอาณาจักรต่าง ๆ ที่วิวัฒนาสืบต่อกันมาโดยมิขาดสาย เมืองไทย แผ่นดินไทย จึงเป็นขุมทรัพย์อันมหาศาลของวงการนักปราชญ์ทางโบราณคดีทั่วโลก ดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบันจึงกลายเป็นแผ่นดินแห่งประวัติศาสตร์ และอารยธรรมที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย ซึ่งดินแดนแห่งนี้ เมื่อครั้งโน้นเรียกว่า “ดินแดนสุวรรณภูมิ” หรือแหลมอินโดจีนก่อนที่ชาติไทยจะได้เข้ามาตั้งภูมิลำเนานั้น เดิมเป็นที่อยู่ของชน ๓ ชาติ คือ ขอม,มอญและละว้า
• ขอม อยู่ทางภาคตะวันออกของลุ่มแม่น้ำโขงตอนใต้อันเป็นที่ตั้งของประเทศกัมพูชาปัจจุบันนี้
• มอญหรือรามัญ อยู่ทางตะวันออกของลุ่มแม่น้ำสาละวิน ตลอดจนถึงลุ่มแม่น้ำอิรวดี ซึ่งเป็นอาณาเขตของสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่าในปัจจุบัน
• ละว้า อยู่ทางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นอาณาเขตของประเทศไทยปัจจุบัน
• อาณาเขตละว้า แบ่งเป็น ๓ อาณาจักร คือ
๑.อาณาจักรทวารวดี หรือละว้าใต้ มีอาณาเขตทางภาคกลางบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาแผ่ออกไปจากชายทะเลตะวันตกและตะวันออกของอ่าวไทยซึ่งมีนครปฐมเป็นราชธานี
๒.อาณาจักรยางหรือโยนกหรือละว้าเหนือ มีอาณาเขตที่เป็นภาคเหนือของประเทศไทยในปัจจุบันมีราชธานีอยู่ที่เมืองเงินยาง
๓.อาณาจักรโคตรบูรณ์หรือพนม มีอาณาเขตที่เป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยในปัจจุบันตลอดไปจนถึงฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง มีเมืองนครพนมเป็นราชธานี
• ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ขอมได้เริ่มแผ่อำนาจเข้าไปในอาณาเขตของละว้า และสามารถครอบครองอาณาเขตละว้าทั้ง ๓ ได้ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ โดยเฉพาะอาณาจักรโคตรบูรณ์ขอมได้รวมเข้าเป็นอาณาจักรของขอมโดยตรง
• ในระยะเวลาประมาณ ๒๐๐ ปี ขอมได้แผ่ขยายศิลปะวิทยาการอันเป็นความรู้ทางศาสนา ปรัชญา สถาปัตย์และอารยธรรมอีกมากมาย ซึ่งได้รับการถ่ายทอดจากอินเดีย และต่อมาพุทธศตวรรษที่ ๑๖ อำนาจของขอมต้องเสื่อมลงดินแดนส่วนใหญ่ได้เสียแก่พม่าไป ซึ่งในเวลานั้นพม่ามีอาณาเขตอยู่ทางลุ่มแม่น้ำอิรวดีตอนเหนือ ได้รุกรานอาณาดินแดนของพวกมอญโดยลำดับมา และได้สถาปนาเป็นอาณาจักรขึ้น มีกษัตริย์ทรงพระนามว่า อโนระธามังช่อ หรือพระเจ้าอนุรุทมหาราช ปราบได้ดินแดนมอญลาวได้ทั้งหมด แต่ภายหลังเมื่อพระเจ้าอนุรุทสิ้นพระชนม์แล้วพม่าก็หมดอำนาจ ขอมก็ได้อำนาจอีกครั้งหนึ่ง แต่ครั้งหลังนี้ก็เป็นความรุ่งเรืองตอนปลาย จึงอยู่ได้ไม่นานนัก เปิดโอกาสให้ไทยซึ่งได้เข้ามาตั้งทัพอยู่เขตละว้าเหนือ โดยขยายอำนาจเข้ามาแล้วขับไล่ขอมเจ้าของเดิมออกไป
• จากประวัติศาสตร์ดังกล่าว อาณาจักรทวารวดีเป็นอาณาจักรหนึ่งของละว้าซึ่งมีอาณาเขตอยู่ในภาคกลางของประเทศไทย ตั้งขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ สืบต่อมาจนกระทั่งพุทธศตวรรษที่ ๑๖ เมื่อพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ แห่งขอมได้แยกขยายอำนาจออกมาตั้งลุ่มน้ำเจ้าพระยา
• อาณาจักรโคตรบูรณ์หรือพนม มีอาณาเขตอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมด ซึ่งมีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในสมัยขอมตอนปลาย ถ้าอาศัยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ประกอบกับภูมิศาสตร์ก็น่าจะเชื่อว่าดินแดนส่วนหนึ่งของอาณาจักรโคตรบูรณ์ หรือพนมก็คงครอบคลุมมาถึงดินแดนที่เป็นที่ตั้งของเมืองชัยภูมิในปัจจุบัน โดยศึกษาจากหลักฐานศิลปะวัดโบราณในจังหวัดชัยภูมิ อันได้แก่ใบเสมาหินทรายแดงที่พบที่บ้านกุดโง้ง ตำบลหนองนาแซง อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งแกะสลักเป็นรูปเสมาธรรมจักร บรรจุตัวอักษรอินเดียโบราณ (ซึ่งศิลปอินเดียเองก็เป็นต้นฉบับของขอม) ศิลปวัตถุชิ้นนี้จัดอยู่ใน "ศิลปทวารวดี" นอกจากนี้ยังจะเห็นได้ชัดจากพระธาตุบ้านแก้ง หรือพระธาตุหนองสามหมื่น เป็นพระธาตุสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างประมาณ ๑๐ เมตร สูงประมาณ ๒๕ เมตร ก่อด้วยอิฐถือปูนจากฐานของพระธาตุขึ้นไปประมาณ ๑๐ เมตร ทำเป็นซุ้มประตูทั้งสี่ทิศ แต่ละทิศจำหลักเทวรูป ลักษณะเป็นศิลปทวารวดี
• ปรางค์กู่ เป็นโบราณสถานที่ตั้งห่างจากจังหวัดประมาณ ๒ กิโลเมตร เป็นปรางค์เก่าแก่ ก่อสร้างด้วยศิลาแลง ภายในปรางค์มีพระพุทธรูปเป็นศิลปทวารวดีประดิษฐานอยู่ ดูจากศิลปและการก่อสร้าง ตลอดทั้งวัตถุก่อสร้างใช้ศิลาแลง สันนิษฐานว่าคงจะสร้างในสมัยเดียวกันกับประสาทหินพิมาย
• ภูพระ เป็นภูเขาเตี้ยอยู่ที่ตำบลนาเสียว อำเภอเมืองชัยภูมิ ระยะห่างจากตัวจังหวัด ๑๒ กิโลเมตร ตามผนังภูพระจำหลักเป็นพระพุทธรูปใหญ่องค์หนึ่ง นั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ขวาวางอยู่ที่พระเพลาพระหัตถ์ซ้ายวางพาดอยู่ที่พระชงฆ์ หน้าตักกว้าง ๕ ฟุต เรียกว่า "พระเจ้าตื้อ" และรอบพระพุทธรูปมีรอยแกะทับเป็นรูปพระสาวกอีกองค์หนึ่งสันนิษฐานว่า คงจะสร้างในสมัยขอมรุ่นเดียวกับที่สร้างปรางค์กู่ก็เป็นได้ พระพุทธรูปเหล่านี้มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปแบบอู่ทอง มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙
• พระธาตุกุดจอก สร้างเป็นแบบปรางค์ประดิษฐานพระพุทธรูปสมัยทวารวดี อยู่ภายในตัวปรางค์สร้างในสมัยขอมเช่นกัน อาศัยจากหลักฐานต่าง ๆ ประวัติศาสตร์ประกอบกับทางด้านภูมิศาสตร์ก็น่าจะเชื่อว่า เมืองชัยภูมิในปัจจุบันเป็นเมืองที่ขอมสร้างขึ้นร่วมสมัยเดียวกันกับลพบุรี, พิมาย แต่ขอมจะสร้างชื่อเมื่อใดหรือศักราชใดนั้นหาหลักฐานที่ปรากฏแน่ชัดไม่ได้ นอกจากจะสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยขอมมีอำนาจเข้าครอบครองในเขตลาว โดยอาศัยหลักโบราณคดีวินิจฉัย เปรียบเทียบตลอดจน
• ศิลปการก่อสร้างเทวรูป ศิลปกรรมเป็นต้น ว่าการแกะสลักตามฝาผนัง ตามปรางค์กู่มีส่วนคล้ายคลึงกับประสาทหินพิมายมากและอยู่ในบริเวณที่ราบสูงโคราชด้วยกัน ระยะทางระหว่างประสาทหินพิมายกับปรางค์กู่ ชัยภูมิห่างกันประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตรเศษ ๆ เท่านั้น

• สมัยอยุธยา
• ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ระหว่าง พ.ศ. ๒๑๙๙-๒๒๓๑ ซึ่งในสมัยนี้เองเป็นครั้งแรกที่เมืองเวียงจันทน์ได้มาขอเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา หลังจากทางกรุงศรีอยุธยาได้รับเมือง เวียงจันทน์เข้าเป็นเมืองขึ้นแล้ว ชาวเมืองเวียงจันทน์ก็ได้อพยพเข้ามาประกอบอาชีพติดต่อกับกรุงศรีอยุธยามากขึ้นเรื่อย ๆ การเดินทางจากเวียงจันทน์เข้ามายังอยุธยาเส้นทางก็ผ่านพื้นที่ของเมืองชัยภูมิปัจจุบัน ข้ามลำชี ข้ามช่องเขาสามหมด(สามหมอ) ชาวเวียงจันทน์ที่อพยพเดินทางผ่านไปผ่านมา เห็นทำเลแห่งนี้เป็นทำเลดีเหมาะในการเพาะปลูกทำไร่ ทำนา จึงได้พากันเข้ามาตั้งถิ่นฐานทำมาหากิน เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ตลอดทั้งผู้เข้ามาอยู่อาศัยในแถบนี้มีแต่ความสันติสุขสงบเรียบร้อย ดินแดนแห่งนี้จึงถูกขนานนามว่า "ชัยภูมิ" เริ่มสร้างบ้านเรือนอยู่กันเป็นหลักแหล่ง ผู้อพยพส่วนใหญ่อาศัยอยู่หนาแน่นตามลุ่มลำชี ตามบึง ตามหนองน้ำต่าง ๆ เมื่อมีคนเพิ่มจำนวนมากขึ้นก็ตั้งเป็นหมู่บ้าน โดยใช้ชื่อหมู่บ้านตามลักษณะที่ตั้ง เช่นบ้านอยู่ริมฝั่งชีก็ตั้งชื่อว่าบ้านลุ่มลำชี ถ้าใกล้หนองน้ำก็ตั้งชื่อบ้านตามหนองน้ำนั้น เช่น บ้านหนองนาแซง บ้านหนองหลอด ฯลฯ
• ชาวพื้นเมืองชัยภูมิได้รับสืบทอดอารยธรรมต่าง ๆ จากบรรพบุรุษเหล่านี้ เช่น ทางด้านภาษาพูด ภาษาเขียน (ตัวหนังสือที่เขียนใส่ใบลานหรือหนังสือผูก) วรรณคดี ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอื่น ๆ ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของชาวชัยภูมิ เมื่อมีคนอยู่ในแดนนี้มากขึ้น สมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงได้โปรดให้เมืองชัยภูมิขึ้นตรงต่อเมืองนครราชสีมา เพราะอยู่ใกล้กว่าและสะดวกในการปกครองดูแล ตั้งแต่นั้นมาเป็นอันว่าเมืองชัยภูมิ อยู่ในความปกครองของเมืองนครราชสีมาตลอดมา
• สมัยกรุงธนบุรี
• หลังจากกรุงศรีอยุธยา เสียเอกราชแก่พม่า เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ พม่าทำลายล้างผลาญโดยที่ต้องการจะมิให้ไทยตั้งตัวขึ้นอีก ได้ริบทรัพย์จับเชลย เผาผลาญทำลายปราสาทราชมณเฑียร วัดวาอารามตลอดจนบ้านเมืองของราษฎรครั้งนั้นพม่าได้กวาดต้อนผู้คนไปเป็นเชลยประมาณ ๓๑,๐๐๐ คน กรุงศรีอยุธยาเกือบจะไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย นอกจากซากสลักหักพังสภาพเหมือนเมืองร้าง อยุธยาเมืองหลวงของไทย ซึ่งเคยรุ่งเรืองมาหลายร้อยปีมีกษัตริย์ปกครองติดต่อกันมาถึง ๓๔ พระองค์ ต้องมาเสียแก่พม่าก็เพราะการที่คนไทยแตกความสามัคคีกันเองแต่กรุงศรีอยุธยาก็ยังไม่สิ้นคนดี คือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้พาสมัครพรรคพวกยกออกจากรุงศรีอยุธยา ไปรวมกำลังอยู่ที่เมืองจันทบุรีมีอาณาเขตตลอดบริเวณหัวเมืองชายทะเลด้านตะวันออกต่อแดนกัมพูชา จนถึงเมืองชลบุรี ซึ่งขณะนั้นหัวเมืองต่าง ๆ ที่มิได้ถูกกองทัพพม่าย่ำยี มีกำลังคน กำลังอาวุธ ก็ถือโอกาสตั้งตัวเป็นอิสระ เป็นชุมชนต่าง ๆ ขึ้น และหวังที่จะเป็นใหญ่ในเมืองไทยต่อไป
• ชุมนุมที่สำคัญมี ๕ ชุมนุม คือ
๑. ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) อาณาเขตตั้งแต่เมืองพิชัยลงมาจนถึงเมืองนครสวรรค์
๒. ชุมนุมเจ้าพระฝาง (เรือน) อาณาเขตตั้งแต่เมืองเหนือพิชัยถึงเมืองแพร่ เมืองน่านและเมืองหลวงพระบาง
๓. ชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช มีอาณาเขตตอนใต้ต่อแดนมลายูขึ้นมาถึงเมืองชุมพร
๔. ชุมนุมเจ้าพิมายหรือกรมหมื่นเทพพิพิธ โอรสสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า พระพิมายเจ้าเมืองถือราชตระกูลและมีความจงรักภักดีต่อราชวงศ์จึงยกกรมหมื่นเทพพิพิธขึ้นเป็นใหญ่ ณ เมืองพิมาย ชุมนุมนี้มีอาณาเขตบริเวณหัวเมืองด้านตะวันออกเฉียงเหนือจดแดนลานช้าง กัมพูชา ตลอดลงมาจนถึงสระบุรี
๕. ชุมนุมพระยาตาก ตั้งตัวเป็นใหญ่อยู่ที่เมืองจันทบุรี มีอาณาเขตตั้งแต่แดนกรุงกัมพูชา ลงมาจนถึงชลบุรี
• พ.ศ. ๒๓๑๑ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ยกทัพมาปราบชุมนุมพิมายได้สำเร็จและให้ขึ้นต่อเมืองนครราชสีมาตามเดิมและในช่วง ๑๕ ปี ของสมัยธนบุรี ประวัติเมืองชัยภูมิไม่ได้กล่าวไว้เลย แต่เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเขตเมืองพิมายและเมืองนครราชสีมาก็รวมอยู่เขตเมืองชัยภูมิและการปกครองก็มีรูปแบบเหมือนสมัยอยุธยาตอนปลาย เพราะฉะนั้นเมืองชัยภูมิก็ยังขึ้นตรงต่อเมืองนครราชสีมา เช่นเดิมตลอดรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
• สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
• เดิมท้องที่ชัยภูมิ มีผู้คนอาศัยมากพอควร กระจัดกระจายอาศัยอยู่ตามแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ อยู่ในความปกครองของเมืองนครราชสีมา ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าในสมัยนี้ใครเป็นผู้นำหรือเป็นเจ้าเมืองชัยภูมิ อาจจะเป็นเพราะในเขตนี้ผู้คนยังน้อย ยังไม่รวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนจึงยังไม่สมควรที่จะแต่งตั้งใครมาปกครองเป็นทางการได้
• ประมาณ พ.ศ. ๒๓๖๐ ได้มีขุนนางชาวเวียงจันทน์คนหนึ่งมีนามว่า อ้ายแล (แล) ตามประวัติเดิมมีตำแหน่งเป็นพี่เลี้ยงราชบุตรเจ้าอนุเวียงจันทน์ ได้ลาออกจากหน้าที่แล้วอพยพครอบครัวและไพร่พลชาวเมืองเวียงจันทน์ข้ามแม่น้ำโขง เลือกหาภูมิลำเนาที่เหมาะเพื่อตั้งหลักแหล่งทำมาหากินขั้นแรกตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้าน "น้ำขุ่นหนองอีจาน" (ปัจจุบันอยู่ในท้องที่อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา)
• ต่อมาได้อพยพมาอยู่ที่ "โนนน้ำอ้อม" (ทุกวันนี้ชาวบ้านเรียกบ้านชีลอง) โดยมีน้ำล้อมรอบจริง ๆ โนนน้ำอ้อมอยู่ระหว่างบ้านขี้เหล็กใหญ่กับบ้านหนองนาแซงกับบ้านโนนกอกห่างจากศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ ประมาณ ๖ กิโลเมตร และได้ตั้งหลักฐานมั่นคง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๒ คงใช้ชื่อเมืองตามเดิม คือเรียกว่าเมืองชัยภูมิ (เวลานั้นเขียนเป็นไชยภูมิ) นายแลได้นำพวกพ้องทนุบำรุงบ้านเมืองนั้นจนเจริญเป็นปึกแผ่น เป็นชัยภูมิทำเลที่เหมาะแก่การทำมาหากิน ผู้คนในถิ่นต่าง ๆ จึงพากันอพยพมาอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก ถึง ๑๓ หมู่บ้าน คือ
๑. บ้านสามพัน ๒. บ้านบุ่งคล้า
๓. บ้านกุดตุ้ม ๔. บ้านบ่อหลุบ (ข้าง ๆ บ้านโพนทอง)
๕. บ้านบ่อแก ๖. บ้านนาเสียว (บ้านเสี้ยว)
๗. บ้านโนนโพธิ์ ๘. บ้านโพธิ์น้ำล้อม
๙. บ้านโพธิ์หญ้า ๑๐.บ้านหนองใหญ่
๑๑.บ้านหลุบโพธิ์ ๑๒.บ้านกุดไผ่ (บ้านตลาดแร้ง)
๑๓.บ้านโนนไพหญ้า (บ้านร้างข้าง ๆ บ้านเมืองน้อย)
• นายแลได้เก็บส่วยผ้าขาวจากชายฉกรรจ์ ประมาณ ๖๐ คน ในหมู่บ้านเหล่านั้นไปบรรณาการแก่เจ้าอนุเวียงจันทน์ เจ้าอนุเวียงจันทน์จึงได้ปูนบำเหน็จความชอบตั้งให้นายแลเป็นที่ "ขุนภักดีชุมพล" ซึ่งเป็นตำแหน่งระดับหัวหน้าคุมหมู่บ้านขึ้นกับเวียงจันทน์
• ในปี พ.ศ. ๒๓๖๕ ขุนภักดีชุมพล(แล) เห็นว่าบ้านโนนน้ำอ้อม (ชีลอง) ไม่เหมาะเพราะบริเวณคับแคบและอดน้ำ (น้ำสกปรก) จึงย้ายเมืองชัยภูมิมาตั้งที่แห่งหนึ่งระหว่างหนองปลาเฒ่ากับหนองหลอดต่อกัน (ห่างจากศาลากลางจังหวัดเวลานี้ประมาณ ๒ กิโลเมตร) และให้ชื่อบ้านใหม่นี้ว่า "บ้านหลวง"
• พ.ศ. ๒๓๖๖ ที่บ้านหลวงนี้ได้มีคนอพยพมาตั้งถิ่นฐานหนาแน่นขึ้นอีก มีชายฉกรรจ์ ๖๖๐ คนเศษ ขุนภักดีชุมพล (แล) ไปพบบ่อทองคำที่บริเวณเชิงเขาภูขี้เถ้า ที่ลำห้วยซาดเรียกว่า "บ่อโขโล" ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของภูเขาพญาฝ่อ (พระยาพ่อ) อยู่ในท้องที่จังหวัดเพชรบูรณ์ จึงได้เกณฑ์ชายฉกรรจ์ทั้งปวงไปช่วยเก็บหาทอง มีครั้งหนึ่งที่ขุดร่อนทองอยู่ฝั่งแม่น้ำลำห้วยซาด ได้พบทองก้อนหนึ่งกลิ้งโข่โล่ ทุกวันนี้เสียงเพี้ยนมาเป็นบ่อโขโหล หรือบ่อโขะโหละ อยู่ในเขตอำเภอหนองบัวแดง ภาชนะที่นายแลและลูกน้องใช้ร่อนทองคำนั้นเป็นภาชนะไม้รูปคล้ายงอบจับทำสวน ชาวบ้านเรียกว่า "บ้าง" หาได้ง่ายในจังหวัดชัยภูมิ) นายแลได้นำทองก้อนโข่โล่นั้นไปถวายเจ้าอนุเวียงจันทน์ ได้รับบำเหน็จความชอบคือได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองไชยภูมิ
• ในเวลานั้นเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เมืองชัยภูมิเช่นเมืองสี่มุม เมืองเกษตรสมบูรณ์ เมืองภูเขียว ได้ขึ้นตรงต่อเมืองนครราชสีมาและกรุงเทพมหานครหมดแล้ว ด้วยเกรงพระบรมเดชานุภาพ ขุนภักดีชุมพลจึงหันมาขึ้นตรงต่อเมืองนครราชสีมาและส่งส่วยให้กรุงเทพฯ แต่บัดนั้นมา
• พ.ศ. ๒๓๖๙ เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์เป็นขบถยึดเมืองนครราชสีมากวาดต้อนผู้คนไปเมืองเวียงจันทน์ เมื่อถึงทุ่งสัมฤทธิ์ คุณหญิงโมภรรยาเจ้าเมืองนครราชสีมาได้คุมคนลุกขึ้นต่อสู้กับทหารของเจ้าอนุวงศ์ นายแลเจ้าเมืองชัยภูมิพร้อมด้วยเจ้าเมืองใกล้เคียงได้ยกทัพออกไปสมทบกับคุณหญิงโมตีกระหนาบทัพเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์แตกพ่ายไป ฝ่ายทหารลาวที่ล่าถอยแตกพ่าย มีความแค้นนายแลมากที่เอาใจออกห่างมาเข้ากับไทย จึงยกพวกที่เหลือเข้าจับตัวนายแลที่เมืองชัยภูมิ เกลี้ยกล่อมให้เป็นพวกตน แต่นายแลไม่ยอมจึงถูกจับฆ่าเสียที่ใต้ต้นมะขามใหญ่ริมหนองปลาเฒ่าซึ่งประชาชนได้สร้างศาลไว้เป็นที่สักการะจนปัจจุบัน
• เมื่อพระยาภักดีชุมพล (แล) เจ้าเมืองชัยภูมิถึงแก่อนิจกรรมบ้านเมืองเกิดระส่ำระสายเพราะขาดหัวหน้าปกครอง ประมาณปี พ.ศ. ๒๓๗๕ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้า ฯ ให้นายเกต มาเป็นเจ้าเมืองชัยภูมิ โดยตั้งให้มีบรรดาศักดิ์เป็นพระภักดีชุมพล นายเกตเดิมเป็นชาวอยุธยา บ้านอยู่คลองสายบัวกรุงเก่า ตามประวัติเดิมว่าเป็นนักเทศน์ เคยเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พิจารณาเห็นว่าที่ตั้งเมืองชัยภูมิไม่เหมาะสม จึงได้ย้ายเมืองจากที่ตั้งเดิมมาตั้งอยู่ที่ "บ้านโนนปอปิด" (คือบ้านหนองบัวเมืองเก่าปัจจุบัน) และได้เก็บส่วยทองคำส่งกรุงเทพฯ เป็นบรรณาการ พระภักดีชุมพล (เกต) รับราชการสนองพระเดชพระคุณเรียบร้อยมาเป็นเวลา ๑๕ ปี ก็ถึงแก่อนิจกรรม
• พ.ศ. ๒๓๘๘ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าตั้งให้หลวงปลัด (เบี้ยว) รับราชการในตำแหน่งเจ้าเมืองได้ ๑๘ ปี ก็ถึงอนิจกรรม ลำดับต่อมาเกิดข้าวยากหมากแพง ผู้คนเกิดระส่ำระสาย อพยพแยกย้ายไปหากินในที่ต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก
• พ.ศ. ๒๔๐๖ พระยากำแหงสงคราม (เมฆ) ผู้ว่าราชการเมืองนครราชสีมาได้ส่งกรมการเมืองออกไปสอบสวนดูว่า มีข้าราชการเมืองไชยภูมิคนใดบ้างที่มีเชื้อสายเจ้าเมืองเก่า ก็ได้ความว่ามีอยู่ ๓ คน คือ
๑. หลวงวิเศษภักดี (ทิ) บุตรพระยาภักดีชุมพล (แล)
๒. หลวงยกบัตร (บุญจันทร์) บุตรพระภักดีชุมพล (เกต)
๓. หลวงขจรนพคุณบุตรพระภักดีชุมพล (เบี้ยว)
• พระยากำแหงสงคราม (เมฆ) จึงได้หาตัวกรมการทั้งสามดังกล่าวนำเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงพิจารณาหาตัวผู้เหมาะสมตำแหน่งเจ้าเมืองชัยภูมิ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้หลวงวิเศษภักดี (ทิ) เป็นพระภักดีชุมพลตำแหน่งเจ้าเมืองชัยภูมิ หลวงยกบัตรเป็นหลวงปลัด หลวงขจรนพคุณเป็นหลวงยกบัตร แล้วให้ป่าวร้องให้ราษฎรที่อพยพโยกย้ายไปอยู่ที่อื่น กลับภูมิลำเนาเดิม
• ในสมัยพระภักดีชุมพล (ทิ) เป็นเจ้าเมืองนั้นพิจารณาเห็นว่าบ้านหินตั้งมีทำเลกว้างขวางเป็นชัยภูมิดี จึงย้ายตัวเมืองจากบ้านโนนปอปิด มาตั้งเมืองใหม่ที่บ้านหินตั้งและมาอยู่จนทุกวันนี้ พระภักดีชุมพล (ทิ) รับราชการสนองพระเดชพระคุณมาด้วยดีเป็นเวลา ๑๒ ปี ก็ถึงแก่อนิจกรรม
• พ.ศ. ๒๔๑๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งหลวงปลัด (บุญจันทน์) บุตรพระภักดีชุมพล(เกต) เป็นพระภักดีชุมพล ตำแหน่งเจ้าเมืองไชยภูมิสืบต่อมา ในระยะเวลานี้การส่งส่วยเงินยังค้างอยู่มาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เก็บส่งลดลงกว่าเดิมเป็นคนละ ๔ บาท พระภักดีชุมพล (บุญจันทร์) รับราชการสนองพระเดชพระคุณมาด้วยความเรียบร้อย ๑๓ ปี ก็ถึงแก่อนิจกรรม
• พ.ศ. ๒๔๓๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้หลวงภักดีสุนทร (เสง) บุตรหลวงขจรนพคุณเป็นพระภักดีชุมพล ตำแหน่งเจ้าเมืองไชยภูมิสืบต่อมา และได้ออกจากราชการเพราะชราภาพ รับเบี้ยหวัดปีละ ๑ ชั่ง
แผนที่จังหวัดชัยภูมิ
• ข้อมูลทั่วไป จังหวัดชัยภูมิ
• จังหวัดชัยภูมิ ตั้งอยู่บนสันขอบที่ราบสูงอีสาน ซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกับภาคกลางและภาคเหนือ เป็นดินแดนแห่งทุ่งดอกกระเจียวแสนงาม และสายน้ำตกชุ่มฉ่ำยามหน้าฝน เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ป่ามากที่สุดจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน มีเทือกเขาที่สำคัญได้แก่ ภูพังเหย ภูแลนคา ภูพญาฝ่อ อันเป็นต้นกำเนิดแม่น้ำชี
• ด้านประวัติศาสตร์ ชัยภูมิมีอารยธรรมซ้อนทับกันหลายสมัย ตั้งแต่สมัยทวารวดี สมัยขอม จนถึงอิทธิพลลาวล้านช้าง มีการค้นพบโบราณสถานโบราณวัตถุมากมายในหลายพื้นที่ของจังหวัด ต่อมาปรากฏชื่อเป็นเมืองหน้าด่านในสมัยกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ภายหลังจึงร้างไป และมาปรากฏชื่ออีกครั้งในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ โดยมีชาวเวียงจันทน์เข้ามาสร้างบ้านแปงเมือง มีผู้นำชื่อ แล ซึ่งต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองคนแรกของชัยภูมิ
• ชัยภูมิอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 342 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 12,778 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองเป็น 15 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมืองชัยภูมิ อำเภอบ้านเขว้า อำเภอคอนสวรรค์ อำเภอเกษตรสมบูรณ์ อำเภอหนองบัวแดง อำเภอจัตุรัส อำเภอภูเขียว อำเภอบำเหน็จณรงค์ อำเภอบ้านแท่น อำเภอแก้งคร้อ อำเภอคอนสาร อำเภอเทพสถิต อำเภอหนองบัวระเหว อำเภอภักดีชุมพล อำเภอเนินสง่า และกิ่งอำเภอซับใหญ่

อาณาเขต
• ทิศเหนือ จดจังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดขอนแก่น
• ทิศใต้ จดจังหวัดนครราชสีมา
• ทิศตะวันออก จดจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดนครราชสีมา
• ทิศตะวันตก จดจังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดลพบุรี
การเดินทาง
• รถยนต์ จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ถึงสระบุรี แยกขวาไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) แล้วแยกซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 201 ที่อำเภอสีคิ้ว ผ่านอำเภอด่านขุนทด อำเภอจัตุรัส เข้าสู่จังหวัดชัยภูมิ รวมระยะทางประมาณ 342 กิโลเมตร
อีกเส้นทางหนึ่ง คือ จากกรุงเทพฯ เดินทางไปตามถนนพหลโยธิน ผ่านสระบุรี ถึงแยกพุแค แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 21 ถึงอำเภอชัยบาดาล จากนั้นเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 205 ผ่านอำเภอเทพสถิต อำเภอจตุรัส เข้าสู่จังหวัดชัยภูมิ

• รถโดยสาร มีบริการเดินรถ กรุงเทพฯ-ชัยภูมิ ทุกวัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 5 ชั่วโมงครึ่ง ติดต่อขอรายละเอียดได้ที่สถานีขนส่งหมอชิต 2 โทร. 936-2852-66 สถานีขนส่งชัยภูมิ โทร. (044) 811493 บริษัท แอร์ชัยภูมิ โทร. (044) 811556 นครชัยแอร์ โทร. (044) 812522 ชัยภูมิจงเจริญ โทร. (044) 811780 ชัยภูมิทัวร์ โทร. (044) 816012
• รถไฟ จากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) มีรถด่วน รถเร็ว กรุงเทพฯ-หนองคาย บริการทุกวันโดยลงที่สถานีบัวใหญ่ จากนั้นสามารถต่อรถโดยสารประจำทางไปชัยภูมิอีก 51 กิโลเมตร สอบถามรายละเอียดได้ที่ แผนกบริการเดินทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690, 223-7010, 223-7020
• เครื่องบิน บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ยังไม่มีบริการเที่ยวบินไปจังหวัดชัยภูมิ หากประสงค์จะเดินทางไปโดยเครื่องบินจะต้องลงที่จังหวัดขอนแก่น จากนั้นสามารถต่อรถโดยสารจากจังหวัดขอนแก่นย้อนกลับเข้าชัยภูมิ ระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร หรือจะลงที่จังหวัดนครราชสีมา แล้วต่อรถโดยสารเข้าจังหวัดชัยภูมิ ประมาณ 119 กิโลเมตร สอบถามรายละเอียด โทร. 1566, 280-0060, 628-2000
• รถประจำทาง จากชัยภูมิไปจังหวัดและอำเภอต่าง ๆ จากสถานีขนส่งชัยภูมิมีรถโดยสารประจำทางไปกรุงเทพฯ เลย เชียงใหม่ นครสวรรค์ นครราชสีมา ขอนแก่น เพชรบูรณ์-หล่มสัก พิษณุโลก ชุมแพ บัวใหญ่ คอนสวรรค์ หนองบัวแดง เกษตรสมบูรณ์ บ้านเขว้า สมอทอด คอนสาร ลำนารายณ์ บ้านไผ่ ติดต่อสอบถามสถานีขนส่งชัยภูมิ โทร. (044) 811493

ระยะทางจากอำเภอเมืองไปยังอำเภอและกิ่งอำเภอต่างๆ
บ้านเขว้า 13 กิโลเมตร
เนินสง่า 30 กิโลเมตร
หนองบัวระเหว 33 กิโลเมตร
คอนสวรรค์ 38 กิโลเมตร
จัตุรัส 39 กิโลเมตร
แก้งคร้อ 45 กิโลเมตร
หนองบัวแดง 53 กิโลเมตร
บำเหน็จณรงค์ 58 กิโลเมตร
ภูเขียว 77 กิโลเมตร
บ้านแท่น 81 กิโลเมตร
ภักดีชุมพล 85 กิโลเมตร
เกษตรสมบูรณ์ 90 กิโลเมตร
เทพสถิต 105 กิโลเมตร
คอนสาร 125 กิโลเมตร
แผนที่ตัวเมืองชัยภูมิ

ประเพณีและกิจกรรมต่างๆ ครับ



  ประเพณีแห่กระธูป article
 
ประเพณีแห่กระธูป
Hae Kra Thup Tradition
 
 “ประเพณีแห่กระธูป”   ที่ตำบลหนองบัวแดง อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ  ในประเพณีบุญออกพรรษา ของทุกปี  ชาวบ้านจะร่วมแรงร่วมใจกันสร้างกระธูปโดยจะตีเกราะเคาะขอลอ  ให้ชาวบ้านออกไปรวมตัว ณ จุดนัดหมาย  (อาจเป็นศาลากลางบ้านหรือบ้านผู้ใหญ่บ้าน)ไปพันกระธูป  ซึ่งกว่าจะเป็นธูปจุดไฟได้ต้องผ่านกระบวนการยาวนานพอสมควร เพราะมันไม่ใช่กระธูปหรือธูปที่วางขายตามตลาด แต่มันเกิดมาจากการขยี้เอามาจากกาบมะพร้าวจนร่วงออกมาเป็นผง  แล้วพันด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์หุ้มอีกทีด้วยกระดาษสีหรือกระดาษแก้วหลากสีสัน  ก่อนที่จะนำไปมัดเข้ากับดาวก้านตาล(สานจากใบตาลหรือใบลาน)  จากนั้นจึงนำไปมัดห้อยกับก้านธูปที่เป็นเสมือนคันเบ็ด ทำไว้มาก ๆ เสร็จแล้วจึงจะนำเข้าไปเสียบเข้าไปรูรอบปล้องไม้ไผ่ ทำเป็นชั้นขึ้นไปเหมือนฉัตร ประดับตกแต่งงดงาม ก่อนที่จะนำออกไปจุดในวันเวียนเทียนออกพรรษา
 งานโฮมบุญแห่กระธูปเทศกาลออกพรรษา
วันออกพรรษา ของทุกปี
ณ ทุ่งหลวงศิริ
อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ
กิจกรรม
  • ขบวนแห่กระธูปขนาดใหญ่ / การประกวดกระธูป
  • การแสดงศิลปพื้นบ้าน / การแสดงดนตรีต่างๆ 
  • มหรสพตอนกลางคืน
  • การแสดงและจำหน่ายสินค้าที่มีชื่อเสียงของจังหวัดชัยภูมิ
สอบถามเพิ่มเติม
  • ศูนย์ข้อมูลการท่องเที่ยว อบจ.ชัยภูมิ      โทร.0-4481-1376
  • อำเภอหนองบัวแดง                                 โทร.0-4421-3030


ประเพณีบุญเดือนสี่ไทคอนสาร
ประเพณีบุญเดือนสี่ไทคอนสาร
Bun Duean Si Thai Khon San Tradition
 
“ประเพณีบุญเดือนสี่ไทคอนสาร”  ที่ตำบลคอนสาร  อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ มีประเพณีบุญเดือนสี่ไทยคอนสาร ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ชาวอำเภอคอนสารถือว่าเป็นประเพณีสำคัญที่ ปฏิบัติสืบต่อกันมา ตามปฏิทินแบบจันทรคติ เดือนสี่เป็นเดือนสุดท้ายของปีเก่า ส่วนเดือนห้า เป็นเดือนแรกของปีใหม่   ระหว่างเดือนสี่กับเดือนห้า ถือว่าเป็นช่วงเวลาส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่   มีการจัดงานบุญ และงานรื่นเริง โดยก่อนวันส่งท้ายปีเก่า ๑-๒ วัน ชาวบ้านจะนำทรายสะอาด  ร่วมกันก่อพระทราย ที่ลานวัด  กลางคืนฟังพระเทศน์ เจริญพระพุทธมนต์  เช้าวันใหม่ก็จะเตรียมดอกไม้ ฝ้ายผูกแขน ไปขอพรผู้ใหญ่ นิยมนำ ปลาย่าง ข้าวตอก ข้าวเฮียง และผลไม้ ไปเป็นของฝากด้วย นอกจากนี้ยังมีการออกร้านจำหน่ายสินค้าของกลุ่มแม่บ้าน และการจัดนิทรรศการความรู้ด้านต่าง ๆ และมีมหรสพของท้องถิ่นสมโภชงานทุกคืน



งานบุญเดือน 6 (สักการะเจ้าพ่อพญาแล) article
วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เดือน พฤษภาคม ของทุกปี
ณ ศาลเจ้าพ่อพญาแล / สวนสาธารณะหนองปลาเฒ่า
อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ

ประเพณีงานบุญเดือนหก
Bun Duean Hok Tradition
 “ประเพณีงานบุญเดือนหก” ของอำเภอเมืองชัยภูมิ   เป็นงานประเพณีการสักการะอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแล  เป็นงานเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ของชาวเมืองชัยภูมิ เรียกว่างานเทศกาลบุญเดือนหก จำนวน ๙ วัน ๙ คืน อันเป็นการรำลึกถึงคุณความดีของเจ้าพ่อพญาแลเจ้าเมืองคนแรกของจังหวัดชัยภูมิ    การจัดงานมีพิธีบวงสรวงดวงวิญญาณของเจ้าพ่อพญาแล   มีขบวนแห่พานบายศรีที่ประดิษฐ์ประดอยอย่างสวยงาม นำไปสักการะเจ้าพ่อพญาแล จากทุกชุมชนในเมืองชัยภูมิ    มีการจัดขบวนช้างเพื่อจัดถวายแด่ เจ้าพ่อพญาแล   รวมทั้งขบวนแห่ที่สวยงามจากอำเภอต่าง ๆ มาร่วมขบวนแห่ หลังจากนั้น      มีการจุดบั้งไฟเสี่ยงทาย จำนวน ๓ บั้ง เพื่อเสี่ยงทายความเป็นอยู่ของ  คน   สัตว์   และความอุดมสมบูรณ์ของฟ้าฝน ในแต่ละปี

งานบุญเดือนหก ( สักการะเจ้าพ่อพญาแล )
 
กิจกรรม
  • พิธีสักการะเจ้าพ่อพญาแล
  • การประกวดหลานปู่แล
  • การแสดงดนตรีพื้นบ้าน / มหรสพ ลูกทุ่ง สตริง
  • ขบวนแห่งานบุญเดือน 6 ของตำบลต่างๆ
สอบถามเพิ่มเติม
  • ศูนย์ข้อมูลการท่องเที่ยว อบจ.ชัยภูมิ      โทร.0-4481-1376 
  • เทศบาลเมืองชัยภูมิ                          โทร.0-4481-1657




งานรำผีฟ้า article

วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เดือนเมษายน ของทุกปี
ณ วัดศิลาอาศน์ ( ภูพระ ) บ้านนาได่เซา ตำบลนาเสียว
อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ


ประเพณีลำผีฟ้า
Lum Phee Fha Tradition
 
“ประเพณีลำผีฟ้า” ของชาวชัยภูมิ ที่ตำบลนาเสียว อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ  เป็นการลำเพื่อรักษาคนป่วย เพราะเชื่อว่าผู้ป่วยมีสาเหตุมาจากการไปทำสิ่งที่ไม่ดี เช่น การตัดต้นไม้ใหญ่ ในป่ามาทำบ้าน   หรือการไปล่าสัตว์จากป่า และการไปทำให้สิ่งไม่ดีต่าง ๆ เ ชื่อว่าเป็นการลำเพื่อติดต่อพูดคุยกับผีได้    คือสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากธรรมชาติ   เช่นผีบรรพบุรุษ ผีป่า ผีนา หรือ     ผีประจำรักษาต้นไม้ใหญ่ ผีประจำห้วยประจำหนอง คลอง  บึง   เพื่อขอร้องให้ผู้ป่วยหายจากการป่วย โดยหมอลำผีฟ้าจะเป็นผู้ที่ติดต่อกับผีว่า    ผีต้องการอะไร เพื่อยินยอมแลกเปลี่ยนกับการหายป่วยในครั้งนั้น หมอลำผีฟ้าใช้ในการลำบวงสรวงบูชาสิ่งที่เคารพนับถือ เช่นการลำผีฟ้าเพื่อบวงสรวงที่ภูพระซึ่งมีพระเจ้าองค์ตื้อ เป็นพระพุทธรูปแกะสลักด้วยหินทราย สูงประมาณ   ๒ เมตร ชาวจังหวัดชัยภูมิ   ถือว่าเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์มาก จึงมีชาวบ้านจากทุกแห่งในจังหวัดชัยภูมิมาลำผีฟ้าบวงสรวงพระเจ้าองค์ตื้อ แม้แต่พี่น้องจากต่างจังหวัดด้วย    การลำผีฟ้าเป็นการลำโดยคณะหมอลำ มีประมาณ ๕ - ๖ คน มีแคนเป็นดนตรีการลำบวงสรวงนี้จะมีขึ้นปีละ ๒ ครั้ง    คือวันขึ้น ๑๓ - ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ (เดือนเมษายน) และวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๓

งานประเพณีรำผีฟ้า
กิจกรรม
  • ขบวนรำวงกลุ่ม
  • รำบวงสรวง ในวันขึ้น 13-15 ค่ำ เดือน 5 
  • การทำบุญตักบาตรพระสงฆ์
สอบถามเพิ่มเติม
  • ศูนย์ข้อมูลการท่องเที่ยว อบจ.ชัยภูมิ      โทร.0-4481-1376
  • อบต.นาเสียว                                           โทร.0-4488-4111
  • ประชาสัมพันธ์จังหวัดชัยภูมิ                     โทร.0-4481-2502
  • อำเภอเมืองชัยภูมิ                                    โทร.0-4481-1898




งานออกพรรษา ( ตีคลีไฟ ) article
ประเพณีตีคลีไฟ
Ti Khli Fai Tradition
“ประเพณีตีคลีไฟ” ที่บ้านหนองเขื่อง ตำบลกุดตุ้ม  อำเภอเมือง  จังหวัดชัยภูมิ  ตีคลีไฟเป็นประเพณีโบราณที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษกว่า ๖๐ ปี และมีแห่งเดียวในโลก ประวัติการเล่นคลีไฟ เริ่มต้นมีมาตั้งแต่ปี ๒๔๘๙  ซึ่งแรกเริ่มเรียกว่า  "คลีโหล๋น" โดยการเล่นมีวิธีที่ง่ายๆ โดยแข่งขันกันตีคลีไกล  ใครมีความสามารถตีได้ไกลเป็นผู้ชนะ ต่อมาจึงมีการเปลี่ยนจากการตีไกล มาเป็นการแข่งขันแบบเป็นทีม
การแข่งขันจะมีขึ้นในช่วงค่ำหลังออกพรรษา ประกอบด้วยผู้เล่นข้างละ ๑๑ คน ชาวบ้านจะใช้ไม้จากต้นหนุนแห้งมาตัดเป็นท่อนแล้วเผาไฟจนกลายเป็นถ่าน ให้ผู้เล่นใช้ไม้ซึ่งทำจากไม้ไผ่หัวขวานลักษณะคล้ายไม้กอล์ฟ ตีเข้าประตูของฝ่ายตรงข้าม ทีมใดที่สามารถตี   ลูกคลีไฟเข้ามากกว่าจะเป็นฝ่ายชนะ ซึ่งชาวบ้านหนองเขื่อง จะเล่นกันมานาน เป็นกีฬาพื้นบ้านที่จัดให้มีการแข่งขันในช่วงเทศกาลออกพรรษา ของทุกปี
  งานออกพรรษา ( ตีคลีไฟ )
วักออกพรรษา เดือนตุลาคม ของทุกปี
ณ วัดแจ้งสว่าง บ้านหนองเขื่อง ตำบลกุดตุ้ม
อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ
กิจกรรม
  • การแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน / โคมไฟลอดช่อง
  • การแข่งขันตีคลีไฟ
  • การทำบุญตักบาตร

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ เมืองชัยภูมิ


รอยพระพุทธบาทวัดไพรีพินาศ
รอยพระพุทธบาทวัดไพรีพินาศRoi Phra Phutthabat Wat Phaiee Phinat
            ตั้งอยู่ที่วัดไพรีพินาศ หมู่ ๒ บ้านเมืองเก่า    ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ เป็นสัญลักษณ์แทนองค์สมเด็จพระสัมมาพระพุทธเจ้า ที่เคยใช้กันแทนพระพุทธเจ้า ในสมัยที่ ยังไม่มีการทำรูปพระพุทธเจ้าเป็นรูปมนุษย์ ซึ่งเริ่มมีมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๓ สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย
รอยพระพุทธบาทจำลองที่วัดไพรีพินาศ เป็นหินแกรนิตสีเขียวเท่ากับของจริงที่พุทธคยา น้ำหนัก ๓ ตัน องค์กรชาวพุทธนานาชาติ ได้สร้างจำลองขึ้นและประกอบพิธีถวายเมื่อวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๕๓ ปัจจุบันประดิษฐานภายในอุโบสถหลังใหม่ วัดไพรีพินาศ ซึ่งเป็นรอยพระพุทธบาทแรกในประเทศไทย ซึ่งจำลองมาจากพระเจดีย์พุทธคยา จะมีลักษณะพิเศษต่างจากรอยพระพุทธบาทจำลองอื่น ๆ ในประเทศไทยซึ่งได้รับอิทธิพลจากศรีลังกา




พระพุทธรูปใหญ่สมัยทวารวดี
พระพุทธรูปใหญ่สมัยทวารวดี
Daravati Buddha Image
         
          พระพุทธรูปสมัยทวารวดีเป็นโบราณวัตถุสมัยวัฒนธรรมทวารวดี สร้างขึ้นตามคติทางพุทธศาสนา มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖ ตั้งอยู่ที่ตำบลคอนสวรรค์ อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ
            ชาวท้องถิ่นเรียกพระพุทธรูปใหญ่สมัยทวารวดีว่า “หลวงพ่อใหญ่” เนื่องจากเป็นพระพุทธรูปยืนที่มีความสูงถึง ๒.๗๐ เมตร สร้างด้วยศิลา พุทธลักษณะเป็นปางสรงน้ำพระเศียรมีลักษณะทรงกรวย พรักตร์รูปไข่ยาวมีกรอบพระพักตร์พระขนงต่อกันเป็นรูปปีกกา พระเนตรหลุบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์หนา พระกรรณยาว พระหัตถ์ขวาแสดงปรางแสดงธรรม     พระหัตถ์ซ้ายแนบพระองค์ ครองสังฆาฏิห่มคลุม
            แหล่งเดิมที่พบโบราณวัตถุชิ้นนี้เคยเป็นชุมชนโบราณขนาดใหญ่ มีกำแพงและคูเมืองสองชั้น ชาวท้องถิ่นเรียกว่าเนินธาตุ ต่อมาจึงมีการเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปองค์นี้ นำมาไว้ที่วัดบ้านคอนสวรรค์




พระธาตุกุดจอก
พระธาตุกุดจอก
Phra that Kut Chok
         “พระธาตุกุดจอก”   ตั้งอยู่ที่บ้านยางน้อย  ตำบลบ้านยาง อำเภอเกษตรสมบูรณ์  จังหวัดชัยภูมิ เป็นโบราณสถานสมัยวัฒนธรรมล้านช้าง  สร้างขึ้นตามคตินิยมทางพุทธศาสนา พุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐
          โดยเจดีย์องค์แรกตั้งอยู่บนเนินดิน บนฐานมีเรือนธาตุเป็นรูปเพรียวทรงปราสาท   มีซุ้มทิศ  ๔  ทิศ  เดิมมีเศียรนาคปรกบนยอด ๘ เศียร   ปัจจุบันเหลือเพียงเศียรเดียว ภายในเจดีย์ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นแบบนูนสูง ปางถวายเนตรประทับยืน ส่วนเจดีย์องค์ที่สองเป็นทรงบัว เหลี่ยมศิลปะล้านช้าง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปหินทรายปางมารวิชัย




พระธาตุเจดีย์ศิริมหามงคล
Phra Thatuchedi Siri Maha Mongkhon
 
“พระธาตุเจดีย์ศิริมหามงคล” ตั้งอยู่ที่  วัดศิริพงษาวาส  ตำบลบ้านกอก    อำเภอจัตุรัส  จังหวัดชัยภูมิ   มีอุโบสถเป็นรูปเจดีย์  เรียกว่า พระธาตุเจดีย์ศิริมหามงคล   ยอดพระธาตุเจดีย์บรรจุพระธาตุ สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๔  ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา   พ.ศ.๒๕๑๘   มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม  เป็นสถานจัดกิจกรรมทางศาสนาของพระภิกษุสงฆ์และพุทธศาสนานิกชนในหมู่บ้านและประชาชนทั่วไป  เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม ประเพณี วัฒนธรรม และเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน


ถ้ำวัวแดง
ถ้ำวัวแดง
Tham Wua Daeng
            “ถ้ำวัวแดง” ตั้งอยู่ที่ตำบลนางแดด  อำเภอหนองบัวแดง   จังหวัดชัยภูมิ   เป็นถ้ำขนาดใหญ่  บนเทือกเขาวัวแดง สันเขามีลักษณะคล้ายหลังวัว ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่จำนวนมาก บริเวณนอกถ้ำเป็นสำนักสงฆ์ ในบริเวณเดียวกันยังมีถ้ำใหญ่น้อยหลายแห่ง อาทิ ถ้ำยายชี ถ้ำบ่อทอง ฯลฯ การขึ้นไปถ้ำวัวแดงจะต้องเดินไปตามบันได ๑,๔๐๑ ขั้น    ระยะทางประมาณ ๑ กิโลเมตร เดิมเรียก ถ้ำประทุนเพราะภายในคล้ายประทุนเกวียน


ปรางค์กู่
ปรางค์กู่
Prang Ku (Muang Kao)
          ปรางค์กู่เป็นโบราณสถานสมัยวัฒนธรรมขอม สร้างขึ้นตามคติทางพุทธศาสนาลัทธิมหายาน มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘
            ปรางค์กู่มีลักษณะเป็นปราสาทหินแบบอโรคยาศาลหรือสถานพยาบาลที่นิยมสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แห่งอาณาจักรขอม ประกอบด้วยปรางค์ประธานอยู่ตรงกลาง ๑ องค์บรรณาลัยด้านหน้า ๑ หลัง ล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลง และนอกกำแพงมีสระน้ำ ๑ สระ
            ปรางค์ประธานมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมไม้สิบสอง ด้านหน้ามีประตูเข้าออกทำเป็นมุขยื่นออกมา ผนังปรางค์อีก ๓ ด้าน เป็นประตูหลอก โดยประตูหลอกด้านทิศเหนือมีทับหลังติดอยู่ สลักภาพพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิเหนือหน้ากาล ช่องประตูหลอกด้านทิศเหนือประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาปางสมาธิ ศิลปะแบบทวารวดี
            ชื่อของโบราณสถานแห่งนี้  เดิมเรียกชื่อว่า “กู่บ้านหนองบัว”


พระธาตุหนองสามหมื่น
พระธาตุหนองสามหมื่น
Phrathat Nong Sam Muen
 
          พระธาตุหนองสามหมื่นเป็นโบราณสถานสมัยวัฒนธรรมล้านช้าง สร้างขึ้นตามคติทางทางพุทธศาสนา มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ ตั้งอยู่ตำบลบ้านแก้ง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ
            ลักษณะขององค์พระธาตุเป็นเจดีย์ก่อด้วยอิฐ ฉาบปูน ย่อมุมไม้สิบสอง ตั้งอยู่บนฐานเขียงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีบันไดทางขึ้นทั้งสี่ด้าน บันไดมีห้าขั้น มีลานทักษิณรององค์เจดีย์ถัดขึ้นไปเป็นฐานเขียง เหนือฐานเขียงเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงายรองรับองค์พระธาตุ ซึ่งมีซุ้มจรนำอยู่ทั้งสี่ทิศ ภายในซุ้มด้านทิศเหนือและทิศตะวันตกประดิษฐานพระพุทธรูปปางรำพึง ส่วนซุ้มด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ประดิษฐ์สถานพระพุทธรูปปางลีลา ลักษณะพุทธศิลป์มีอิทธิพลของศิลปะล้านช้างปะปนอยู่ เหนือเรือนธาตุทำย่อเก็จไม้ยี่สิบ มีสถูปขนาดเล็ก ยอดปลายเรียว
กลุ่มใบเสมาหินทราย บางหลักมีจารึกอักษรปัลลวะภาษาสันสกฤต อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ และมีหลักหนึ่งนำไปตั้งเป็นเสาหลักเมืองภูเขียว นอกจากนี้ยังมีประติมากรรมที่ชำรุดหนึ่งคล้ายเศียรพระพุทธรูปนาคปรกของศิลปกรรมขอมแบบบายน อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘

วัดสวยๆน่าเที่ยว จ.ชัยภูมิ ครับ

วัดเขาประตูชุมพลพุทธธรรม
วัดเขาประตูชุมพลพุทธธรรมWat Khaow Phratu Chumphan Buddha Tham   
 
วัดเขาประตูชุมพลพุทธธรรม ตั้งอยู่ที่ ตำบลบ้านไร่ อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ     มีอาณาเขตติดกับอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม เป็นวัดที่ตั้งอยู่ท่ามกลางป่าไม้เบญจพรรณนานาชนิด มีความสวยงาม เงียบสงบ เป็นที่สัปปายะเหมาะแก่การปฏิบัติธรรม มีอาคารที่พัก และ โรงครัว สามารรองรับผู้มาปฏิบัติธรรมได้จำนวนมาก  นอกจากนี้ในบริเวณวัดยังมีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติมากมาย เช่น ประตูชุมพล เป็นหินธรรมชาติที่มีช่องสี่เหลี่ยมตรงกลางขนาดกว้าง ๓ เมตรยาว ๓ เมตร รูปร่างคล้ายประตู จึงได้นำประตูธรรมชาตินี้มาเป็นชื่อวัด


วัดพระพุทธบาทภูแฝด
วัดพระพุทธบาทภูแฝด
Buddha Bath Phu Faet Temple
“วัดพระพุทธบาทภูแฝด”  ตั้งอยู่ที่ ตำบลนาเสียว อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ    ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๒๓ กิโลเมตร เส้นทางเดียวกับวัดศิลาอาสน์ ภูพระ โดยใช้เส้นทางหลวงหมายเลข ๒๐๑ (ชัยภูมิ-แก้งคร้อ) เป็นเนินเขาเตี้ย ๆ มีรอยพระพุทธบาทในก้อนหิน คล้ายพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรี  ทางเข้าวัดทั้งสองข้างทางมีต้นไม้เรียงรายตลอดแนว ดูแล้วร่มรื่น  


วัดเขาบังเหยชุมพลสีมาราม
วัดเขาบังเหยชุมพลศรีมารามWat Khoo Bang Ye Chumphon Sima Ram
          “วัดเขาบังเหยชุมพลศรีมาราม”  ตั้งอยู่ที่บ้านซับมงคล ตำบลโปงนก   อำเภอเทพสถิต  จังหวัดชัยภูมิ สร้างขึ้นเมื่อประมาณ ๒๐ ปีที่แล้ว จากเริ่มแรกเป็นโรงเรือนศาลาไม้  ได้พัฒนาและสร้างศาสนสถานเพิ่มขึ้นจนถึงปัจจุบัน
          วัดเขาพังเหยมี ศาลาปฏิบัติธรรม พระอุโบสถ หอสมาธิ ตลอดจนโรงยาสมุนไพร และที่พักรับรองญาติโยมที่มาทำบุญและปฏิบัติธรรม     นอกจากนี้ยังเหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจเที่ยวชมธรรมชาติ โดยมีพระอาจารย์นกเป็นเจ้าอาวาส ที่มีวัตรปฏิบัติน่าเลื่อมใสมีประชาชนทั่วประเทศที่เดินทางมาเพื่อนมัสการพระอาจารย์และสักการบูชา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัด ที่ตั้งอยู่ในภูมิประเทศอันงดงาม


สระหงษ์ (วัดเขาสระหงษ์)
สระหงษ์ (วัดเขาสระหงษ์)
Sa Hong ( Wat Khao Sa Hong )
สระหงษ์ (วัดเขาสระหงษ์) ตั้งอยู่ในบริเวณวัดเขาสระหงษ์ ตำบลนาเสียว อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ เป็นสระโบราณอยู่กลางเนินเขาเตี้ย ๆ กว้างประมาณ ๕ วา ห่างจากสระนี้ประมาณ ๓ เมตร มีหินก้อนหนึ่งลักษณะคล้ายรูปหงษ์  ซึ่งเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติอยู่ในท้องที่ตำบลนาเสียว ห่างจากศาลากลางจังหวัดไปทางทิศเหนือ   ประมาณ ๑๒  กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข ๒๐๕๑ ทางด้านซ้ายมือ (ทางแยกเข้าอ่างเก็บน้ำช่อระกา)


วัดปทุมชาติ
วัดปทุมชาติ
Pathum Chat Temple
“วัดปทุมชาติ” ตั้งอยู่หมู่ ๑ บ้านหนองบัวใหญ่ ตำบลหนองบัวใหญ่ อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ     ถือว่าเป็นวัดที่มีขนาดใหญ่ตั้งอยู่บน  เนื้อที่ประมาณ ๒๘ ไร่  ห่างจากตัวจังหวัด ประมาณ  ๓๖ กิโลเมตร และมีงานประเพณี งานบุญประจำปี  ปิดทองรอยพระพุทธบาท ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าของจริง  วัดปทุมชาติยังเปรียบเสมือนศูนย์การเรียนรู้แก่ประชาชนอีกด้วย อาทิ ห้องสมุด ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ศูนย์อบสมุนไพร ฯลฯ นอกจากนี้ ยังเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าพ่อพระยานรินทร์สงคราม นายอำเภอคนแรกของอำเภอจัตุรัสอีกด้วย



วัดชัยภูมิพิทักษ์ (ผาเกิ้ง)
วัดชัยภูมิพิทักษ์ (ผาเกิ้ง)
Wat Chaiyaphum Phithak ( Pha Koeng )
"พระพุทธชัยภูมิพิทักษ์" ประดิษฐาน ณ วัดชัยภูมิพิทักษ์ ผาเกิ้ง อยู่ทางฝั่งภูแลนคา เป็นจุดที่สามารถมองเห็นทัศนียภาพเบื้องล่างได้อย่างชัดเจน คำว่า ผาเกิ้ง หรือ อีเกิ้ง เป็นภาษาอีสาน หมายถึงพระจันทร์ ดังนั้น ผาเกิ้ง จึงเป็นชื่อผาที่มีลักษณะครึ่งวงกลมยื่นออกไป มองดูเหมือนพระจันทร์เสี้ยว ตำบลกุดชุมแสง อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ  เป็นพระพุทธรูปศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ ขนาดสูงจากฐานถึงยอด ๑๔ ศอก  ( ๗ เมตร ) ก่ออิฐถือปูน หุ้มด้วยกระเบื้องโมเสดสีทองทั้งองค์  ยืนตระหง่านเป็นศรีสง่า ประดิษฐานที่หน้าผาเกิ้ง ซึ่งเป็นหน้าผาที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของอำเภอหนองบัวแดง ตั้งอยู่ระหว่างภูเขาสองลูกที่มาบรรจบกัน บางครั้งชาวบ้านจะเรียกว่า ช่องบุญกว้าง

หม่ำชัยภูมิ

 
หม่ำชัยภูมิ ได้ขื่อว่า "หม่ำตำนานรัก”แห่งเดียวของไทย ที่พรานป่าไปล่าสัตว์บนภูเขียว –ภูคิ้งในอดีต ซึ่งต้องใช้เวลานาน 1-3 เดือน ในการเดินทางไป-กลับ พอล่าสัตว์ป่าได้ ก็คิดหาวิธีถนอมอาหารมาฝากลูก-เมีย ที่รออยู่บ้าน โดยที่เนื้อสัตว์ไม่เน่าเสีย
 
 
พรานจึงสับเนื้อ ผสมตับ คลุกข้าวเหนียวและเกลือที่พกติดตัวไป ยัดใส่ในกระเพาะของสัตว์ หรือลำไส้ของสัตว์ เพื่อหมักหรือถนอมให้เก็บไว้ได้นาน เพื่อเป็นของฝากภรรยา พอกลับถึงบ้านนำมาชิม ปรากฏว่า มีรสชาติอร่อย เป็นที่ชอบใจภรรยา จึงถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นและเป็นอาหารพื้นบ้านที่นิยมรับประทาน สืบมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ – ปัจจุบัน
 
 
"หม่ำ” จึงเป็นอาหารพื้นเมืองชัยภูมิ ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง โดยในปัจจุบันนิยมทำจากเนื้อวัว หรือเนื้อหมู ผสมกับตับ กระเทียม เกลือ บดให้ละเอียด บรรจุไว้ในกระเพาะสัตว์ เนื่องจากเป็นการแปรรูปอาหารจากภูมิปัญญาที่เก็บไว้นานถึง 3 เดือน เป็นที่นิยมบริโภคมากที่สุดทั้งในและต่างจังหวัด โดยเฉพาะภาคอีสานและนิยมซื้อเป็นของกินของฝากชั้นนำสัญลักษณ์ที่สำคัญจังหวัดชัยภูมิ เพื่อเป็นสินค้าที่ระลึก
 
 
ส่งผลให้หม่ำ เป็นสินค้า OTOP ประเภทอาหารพื้นบ้านที่สำคัญ ได้รับการรับรองตราอาหารปลอดภัย และ อย. จาก สสจ.ชัยภูมิ จุดเด่น หม่ำชัยภูมิ เป็นพก โดยใช้กระเพาะหมู บรรจุเพื่อให้เก็บรักษาคุณภาพได้นาน และรสชาติอร่อย แหล่งผลิตและจำหน่ายที่มีชื่อเสียงได้แก่ที่บ้านบัว อ.เกษตรสมบูรณ์ , อ.ภูขียว , ช่องสามหมอ อ.คอนสวรรค์ และ บริเวณห้าแยกโนนไฮ เขตเทศบาลเมืองชัยภูมิ

การจักสานกระติบข้าว

การจักสานกระติบข้าวของบ้านสำราญได้จักสานมาตั้งแต่บรรพบุรุษ โดย เป็นงานอดิเรกของผู้สูงอายุแต่ฝีมือการจักสานของบ้านสำราญจะมีความปราณีตเป็นพิเศษทำไว้ใช้เองในครัวเรือนและแบ่งขายให้กับครัวเรือนอื่น หมู่บ้านอื่น ต่อมาเห็นว่าขายพอมีรายได้ ปู่ย่า ตา ยาย จึงได้ถ่ายให้กับบุตรหลานและทำการจักสานมากขึ้นจนถึงผลิตเพื่อจำหน่ายเพิ่มรายได้ อีกทางต่อมามีการรวมกลุ่มและได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมการพัฒนาชุมชน สำนักงานเกษตรอำเภอ และได้ส่งผลิตภัณฑ์ประกวดและได้รับรางวัลทำให้กระติบข้าวบ้านสำราญมีชื่อเสียงในระดับหนึ่ง

1. ลายตอกสวยงาม
2.ราคาไม่แพง
3. มีความทนทาน

1. สุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ปี 2547ระดับ 3 ดาว
2. มผช. ได้รับปี 2546


ฝีมือ แรงงานคือคนในชุมชนอย่างแท้จริง ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นจึงทำให้คนในชุมชนมีความผูกพันกันเหมือนญาติพี่น้อง และกระติบข้าวถือว่าเป็นวิถีชีวิตของคนในชุมชนซึ่งทำให้เกิดรายได้และความภาคภูมิใจ

1. ไม้ไผ่
2. หวาย
3.ก้านตาล
4.ราคาจำหน่าย
-ขายปลีก ราคา 60 บาท/ใบ
-ขายส่ง ราคา 50 บาท/ใบ

1. นำไม้ไผ่มาจัดตอกตามขนาดที่ต้องการ
2.นำตอกมาจักสานขึ้นรูปทรงตามที่ต้องการ
3.นำก้านตาลมาทำที่รองฐาน
4.นำเส้นหวายมาทำขอบเพื่อใช้ได้นานขึ้น
5.รมควันป้องกันเชื้อรา
6.ขนาดของสินค้า เส้นผ่าศูนย์กลาง 6 นิ้ว
7.ปริมาณการผลิต 2,000-4,000 ใบ/เดือน


1. การใช้ไม้ไผ่ที่มีปล้องยาว
2.การออกแบบลายตามความต้องการของตลาด

กลุ่มผู้ผลิต กลุ่มจักสานไม้ไผ่
สถานที่ผลิต บ้านเลขที่ 129 หมู่ที่ 2 ตำบลศรีสำราญ อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ 36140
โทรศัพท์ 044-893684 หรือ 089-945-2560
ประธานกลุ่ม นางคำภา อาฤทธิ์
สถานที่ตั้งกลุ่ม บ้านเลขที่ 129 หมู่ที่ 2 ตำบลศรีสำราญ อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ 36140
โทรศัพท์ 044-893684 หรือ 089-945-2560

สามารถเดินทางไปยังกลุ่มได้ 1 เส้นทาง เดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว ออกจากคอนสวรรค์ ไปตามถนนคอนสวรรค์-บ้านสำราญประมาณ ที่ 12


บ้านเลขที่ 129 หมู่ที่ 8 ตำบลศรีสำราญ อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ รหัสไปษณีย์ 36140
โทรศัพท์ 044-893684 หรือ 089-945-2560